My latest images for sale at Shutterstock:

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สูดอากาศที่เขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam) และไปเดินบนสะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park) อุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย


         วันนี้ชวนทุกคนไปสูดอากาศที่เขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam) และไปเดินบนสะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park) อุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย จ.เพชรบุรี ( เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม )  ครับ
         เราเริ่มต้นที่ขึ้นไปสูดอากาศที่สันเขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam) ก่อนครับ


 ประวัติ/ความสำคัญ  :  เขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam)



         ป้ายบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam) เขียนเล่าว่า "เขื่อนแก่งกระจานนี้สร้างขึ้นเมื่อเดือน ตุลาคม พุทธศักราช 2505 บัดนี้ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมากระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2509เวลา 10.42 นาฬิกา เป็นมหามงคลฤกษ์ ขอให้เขื่อนนี้ จงสถิตสภาพสถาพรอยู่ชั่วกาลนาน เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์โดยทั่วไป"
         รายละเอียดเขื่อนแก่งกระจาน (ที่มา : ป้ายบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน)
  • เขื่อนนี้เป็นเขื่อนดินสร้างปิดช่องเขา 3 ช่อง ติดต่อกัน
  • เขื่อนนี้สูง  58  เมตร  ยาว 1,320  เมตร
  • สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ฐานตอนกว้างที่สุด 250 เมตร
  • มีทางให้น้ำล้นผ่านไปได้ 1,380  ลูกบาสก์เมตร/วินาที
  • มีท่อส่งน้ำได้  75  ลูกบาสก์เมตร/วินาที
  • มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 31,000 ไร่
  • กักเก็บน้ำได้  710  ล้านลูกบาสก์เมตร
  • ค่าก่อสร้าง 160 ล้านบาท  

ป้ายเขียนบอกประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam)

          ประโยชน์ที่ได้รับ
  • เพิ่มพื้นที่ใช้น้ำชลประทานในฤดูฝน ซึ่งมีอยู่ 214,000 ไร่ ขึ้นไปอีก 122,000 ไร่ รวมเป็น 336,000ไร่
  • ในฤดูแล้งยังมีนำเพื่อใช้ปลูกพืชไร่ได้อีก 174,000 ไร่
  • การอัตคัดขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตั้งแต่ปากอ่าวเพชรบุรีถึงหัวหินจะหมดไป
  • บรรเทาอุทุกภัยในลุ่มน้ำเพชรบุรีที่มีเกือบ 15 ปีต่อครั้งลงไป
  • จะติดตั้งเครื่องไฟฟ้าได้  19,000  กิโลวัตต์ และจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 70 ล้านยูนิต (KW-HR)
        
สถานที่ตั้ง  เขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam)
         ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 76170

การเดินทางไป  เขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam)

แผนที่สำหรับเดินทางไปเขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam) 

ถึงจุดหมาย : เขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam)
            เมื่อเราเดินทางไปถึงสันเขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam) เราไปสูดอากาศให้เต็มปอดและชมวิวธรรมชาติสวยๆจากสันเขื่อนครับ (รูปประกอบ : 29 ม.ค.2560 )  

เขื่อนแก่งกระจาน

เขื่อนแก่งกระจาน

บรรยากาศของนักท่องเที่ยวบนสันเขื่อนแก่งกระจาน

วิวของธรรมชาติมองจากสันเขื่อนแก่งกระจาน

วิวของธรรมชาติมองจากสันเขื่อนแก่งกระจาน

วิวของธรรมชาติมองจากสันเขื่อนแก่งกระจาน

วิวของธรรมชาติมองจากสันเขื่อนแก่งกระจาน
            หลังจากสูดอากาศดีๆ ชมวิวสวยๆ ที่เขื่อนแก่งกระจานแล้ว ชวนไปเดินบนสะพานแขวนที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park) ต่อครับ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขื่อนแก่งกระจาน


 ประวัติ/ความสำคัญ  :  อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park)
         เว็บไซต์ของสำนักอุทยานแห่งชาติเขียนเล่าว่า "อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี และมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 1,821,687.84 ไร่ หรือ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร
          เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จที่เขื่อนแก่งกระจาน ได้รับสั่งให้นายถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า “เรื่องป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้ เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น” จากพระราชดำรัสดังกล่าวประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ"
        
สถานที่ตั้ง  อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park)
         ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 76170

การเดินทางไป  สะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park)

    แผนที่สำหรับเดินทางไปสะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

    ถึงจุดหมาย : สะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park)
                เมื่อเราเดินทางไปถึงบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park) เลี้ยวรถเข้าไปบริเวณที่จอดรถแล้วจะมีลูกศรบอกทางไปสะพานแขวนต่ออีกทีครับ หรือจะจอดรถดูท่อนไม้ท่อนใหญ่ท่อนหนึ่งที่ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานวางแสดงให้ชมก่อนเดินทางต่อไปยังสะพานแขวนก็ได้ครับ (รูปประกอบ : 29 ม.ค.2560 )

    ท่อนซุง : ไม้มะค่าโมง

    ป้ายลูกศรบอกเส้านทางไปยังสะพานแขวน

                เมื่อเราเดินทางไปถึงสะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มุ่งหน้าไปสูดอากาศดีๆ ชมธรรมชาติอันสวยๆ บนสะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกันครับ

    สะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

    เกี่ยวกับหนังที่เกี่ยวข้องกับสะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

    สะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

    สะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

    ลิงกำลังเดินเล่นบนสะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

    วิวทิวทัศน์บริเวณสะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

                สูดอากาศให้เต็มปอด เดินบนสะพานแขวนให้สบายใจ  เขื่อนแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Dam) และสะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park) อีกหนึ่งสถานที่ในเมืองไทยที่ไม่ควรพลาดไปเยือนครับ...สวัสดีครับ


    วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum) พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


             พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum) จ.พระนครศรีอยุธยา ( ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา )  ไปเติมเต็มภาพความรุ่งเรืองในอดีตของกรุงศรีอยุธยาให้ชัดเจนกับพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาครับ


     ประวัติ/ความสำคัญ  : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum)



             พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วังจันทรเกษม หรือวังหน้า ปรากฎหลักฐานตามพระราชพงศาวดารว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ประมาณ พ.ศ. 2120 โดยพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก
    ( ที่มา : โบชัวร์ "พระนครศรีอยุธยา" ,ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา ,เมษายน 2555) 
             จากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เขียนเล่าประวัติความเป็นมาว่า "เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ,สมเด็จพระเอกาทศรถ ,เจ้าฟ้าสุทัศน์ ,สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ,ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) ,สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ,สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ,กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์
             ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการบูรณะและปรับปรุงพระราชวังจันทรเกษมขึ้นใหม่ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์ เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม
              ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชวังจันทรเกษม ให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า โดยใช้ พระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งเป็นหมู่ตึกกลางของพระราชวังเป็นที่ทำการ
              เมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้จัดสร้างอาคารที่ทำการภาคบริเวณกำแพงวัง ด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาคในขณะนั้น
              สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากนั้นจึงมีการใช้งานกันเรื่อยมา ทั้งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่ทำการมณฑลเทศาภิบาลจนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงได้มีการซ่อมแซมและบูรณะอาคารต่าง ๆ อีกครั้ง

    พระยาโบราณราชธานินทร์
              ในระหว่างที่พระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา ท่านได้ทำการศึกษาและรวบรวมเรื่องราว รวมทั้งวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่าและบริเวณใกล้เคียงไว้เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2445 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เรียกว่า “โบราณพิพิธภัณฑ์” โดยในระยะแรกนั้นใช้ตึกโรงม้าพระที่นั่งเป็นที่เก็บรวบรวม
              ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุต่าง ๆ จากโรงม้าพระที่นั่งเข้ามาเก็บรักษาและตั้งแสดงที่บริเวณอาคารพลับพลาจัตุรมุข พร้อมทั้งจัดสร้างระเบียงตามแนวอาคารด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก เพื่อจัดตั้งวัตถุ ศิลาจารึก และประติมากรรรมต่าง ๆ ตั้งชื่อว่า “อยุธยาพิพิธภัณฑ์”
               ต่อมา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2479 กรมศิลปากร ได้ประกาศ ให้อยุธยาพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม"


    วัน/เวลาเปิด-ปิดและค่าธรรมเนียมการเข้าชม :  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum)
             วันเปิดบริการ :  เปิดบริการวันพุธ - วันอาทิตย์ ,ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันนักขัตฤกษ์
             เวลาทำการ :  09.00-1600 น.
             ค่าธรรมเนียมการเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท , ชาวต่างชาติ 100 บาท
            
    สถานที่ตั้ง  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum)
             ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

    การเดินทางไป  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum)

    แผนที่สำหรับเดินทางไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum)

    ถึงจุดหมาย : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum)
                เมื่อเราเดินทางไปถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum) มุ่งหน้าไปตามรอยความรุ่งเรืองในอดีตของกรุงศรีอยุธยากับพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาครับ (รูปประกอบ : 15 ม.ค.2560 )  

    แผนผังอาคารภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum)

                เราไปชมโบราณสถาน โบราณวัตถุ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ตั้งแต่ทางเข้าครับ
                พลับพลาจตุรมุข 
                เป็นพลับพลาเครื่องไม้ มีมุขด้านหน้า 3 มุข เดิมใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการและเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 4 เวลาเสด็จประพาส ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่เดิมภายในพระราชวังนี้ เช่น พระแท่นบรรทม พระราชอาสน์ พร้อมเศวตฉัตร พระบรมณ์ฉายาลักษณ์และเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
    ( ที่มา : โบชัวร์ "พระนครศรีอยุธยา" ,ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา ,เมษายน 2555) 

    พลับพลาจตุรมุข

    บริเวณภายในพลับพลาจตุรมุข

    พระแท่นบรรทม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


    เครื่องใช้ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    หม้อกรองน้ำ เครื่องใช้ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    โคมไฟเดิม ณ ท้องพระโรง พลับพลาจตุรมุข

    พระบรมณ์ฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    เครื่องใช้ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    บริเวณภายในพลับพลาจตุรมุข
                พระที่นั่งพิมานรัตนา
                เป็นตึกหมู่อยู่กลางพระราชวัง ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง คือ อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตนา และศาลาเชิญเครื่อง เคยเป็นศาลากลางมณฑลและจังหวัดมาหลายปี ปัจจุบันจัดแสดงประติมากรรมที่สลักจากศิลา เป็นเทวรูปและพระพุทธรูป พระพิมพ์สมัยต่างๆ และเครื่องแกะสลักฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์
    ( ที่มา : โบชัวร์ "พระนครศรีอยุธยา" ,ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา ,เมษายน 2555) 


    พระที่นั่งพิมานรัตนา

                พระที่นั่งพิมานรัตนาอยู่ข้างๆ กับพลับพลาจตุรมุข มีทางเดินเชื่อมต่อถึงกันครับ ไปเดินชมความงดงามทางศิลปะและตามรอยประวัติศาสตร์กันต่อครับ

    ทางเดินเชื่อมไปพระที่นั่งพิมานรัตนาจากพลับพลาจตุรมุข

    อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา  และศาลาเชิญเครื่อง

    ภายในพระที่นั่งพิมานรัตนาการจัดแสดงโบราณวัตถุ

    ภายในพระที่นั่งพิมานรัตนาการจัดแสดงโบราณวัตถุ
    พระพิมพ์

                สิ่งที่ผู้เขียนแอบยิ้มเมื่อเห็นกลุ่มพระพุทธรูปสำคัญที่พบภายในพระพาหาซ้ายขององค์พระมงคลบพิตร ที่มีจัดแสดงที่บริเวณภายในพระที่นั่งพิมานรัตนาด้วย เนื่องจากผู้เขียนคิดว่ามีการจัดแสดงเฉพาะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่เดียว แต่จริงๆแล้วมีจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษมด้วย

    พระพุทธรูปสำคัญที่พบภายในพระพาหาซ้ายขององค์พระมงคลบพิตร

                 เดินชมบริเวณพระที่นั่งพิมานรัตนาให้ถึงด้านหลังของพระที่นั่งฯ ครับ ไปชมความงดงามของโบราณศิลปะของเทวรูป พระพุทธรูป และความงามของเครื่องไม้ฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย และรัตนโกสินทร์ตอนต้น

    พระที่นั่งพิมานรัตนาการจัดแสดงโบราณวัตถุ

    พระพุทธรูปนาคปรก พระที่นั่งพิมานรัตนา

    พระที่นั่งพิมานรัตนาการจัดแสดงโบราณวัตถุ

    พระที่นั่งพิมานรัตนาการจัดแสดงโบราณวัตถุ

    พระที่นั่งพิมานรัตนาการจัดแสดงโบราณวัตถุ

    พระที่นั่งพิมานรัตนาการจัดแสดงโบราณวัตถุ
                 ผ่านไปแล้ว 2 อาคารการจัดแสดงโบราณวัตถุ เต็มอิ่มกับความงดงามของศิลปะมากครับ ไปตามรอยโบราณสถานกันต่อครับ
                พระที่นั่งพิศัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้อง
                เป็นหอสูง 4 ชั้น สร้างครั้งแรกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หักพังลงมาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 หอที่เห็นในปัจจุบันสร้างสมัยรัชกาลที่ 4 ตามรากฐานของอาคารเดิมและทรงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว
     ( ที่มา : โบชัวร์ "พระนครศรีอยุธยา" ,ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา ,เมษายน 2555) 


    พระที่นั่งพิศัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้อง

    พระที่นั่งพิศัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้อง
                ตึกที่ทำการภาค
                สร้างขึ้นสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวสร้างขนานไปกับกำแพงด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ จัดแสดงนิทรรศการถาวร 5 เรื่อง คือ เรื่องศิลปะสถาปัตยกรรมอยุธยา เครื่องปั้นดินเผา สินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของอยุธยา อาวุธยุทธภัณฑ์ ศิลปะวัตถุพุทธบูชา และวิถีชีวิตริมน้ำชาวกรุงเก่า
     ( ที่มา : โบชัวร์ "พระนครศรีอยุธยา" ,ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา ,เมษายน 2555) 


    ตึกทำการภาค

    บริเวณจัดแสดงของตึกทำการภาค

    บริเวณจัดแสดงของตึกทำการภาค
                 สิ่งที่ผู้เขียนอยากให้แวะเยือนอีกจุดที่จัดแสดงตึกทำการภาพคือ ห้องแสดงกลอง และศิลาจารึก ครับ อยากให้มาตามรอยศิลาจารึกอักษรไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา หากได้มาชมมาเยือนแล้วลองเปรียบเทียบกับอักษรไทยที่เราใช้ในปัจจุบันดูครับ

    บริเวณจัดแสดงของตึกทำการภาค
                  จัดแสดงอาวุธยุทธภัณฑ์

    อาวุธยุทธภัณฑ์

    อาวุธยุทธภัณฑ์
                  จัดแสดงสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา เช่น  นภศูล จากวัดพระราม ชมความงดงามของยอดพระปรางค์แบบใกล้ๆ  เสมา สถาปัตยกรรมจำลอง เป็นต้นครับ

    นภศูล พระปรางค์วัดพระราม
    ชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม

    เสมา
                  ห้องเจ้าคุณเทศาฯ เป็นอีกห้องที่อยากให้ทุกคนมาเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม มาให้ถึงห้องนี้ ห้องนี้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติของพระยาโบราณราชธานินทร์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นของดั้งเดิม และผลงานต่างๆ ของพระยาโบราณฯ

    ห้องเจ้าคุณเทศาฯ ตึกทำการภาค
    ห้องเจ้าคุณเทศาฯ ตึกทำการภาค

    ภาพภ่ายฝีมือพระยาโบราณฯ

                โบราณสถานที่สำคัญอีกหนึ่งอาคารคือ ตึกโรงม้าพระที่นั่ง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมกำแพงทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

    ตึกโรงม้าพระที่นั่ง

                เมื่อชมความงดงามของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum) พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  อยากชวนคนไทยมาตามรอยประวัติศาสตร์ชาติไทยกันที่นี่ครับ สถานที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยของเราครับ
                ตามรอยความรุ่งเรืองในอดีตของกรุงศรีอยุธยาให้ชัดเจน ตามรอยประวัติศาสตร์ชาติไทย  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม (Chantharakasem National Museum)” อีกหนึ่งสถานที่ในเมืองไทยที่ไม่ควรพลาดไปเยือนครับ...สวัสดีครับ