My latest images for sale at Shutterstock:

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร (Wat Niwet Thamprawat Ratworawihan) วัดไทยแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรวิหาร วัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5

Thai | English

          วันนี้ชวนทุกคนไปกราบพระชมความงดงามของสถาปัตยกรรมยุโรปที่วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร (Wat Niwet Thamprawat Ratworawihan)  จ.พระนครศรีอยุธยา ( ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา )  วัดไทยแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรวิหาร  วัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 ครับ


 ประวัติ/ความสำคัญ  : วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร (Wat Niwet Thamprawat Ratworawihan)        



          จากเว็บไซต์วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหารเขียนเล่าให้ฟังว่า "วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2419 เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับยังพระราชวังบางประอิน ซึ่งทรงโปรดให้สร้างเลียนแบบโบสถ์ฝรั่ง โดยใช้ศิลปะแบบโกธิค (Gothic)โดยเฉพาะพระอุโบสถของวัด ที่เป็นอาคารมีโดมหอคอยปลายแหลมตามอย่างวิหารในสถาปัตยกรรมตะวันตก บริเวณยอดโดมมีหอนาฬิกาและระฆังชุด เหนือขึ้นไปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธนฤมลธรรโมภาสเป็นพระประธาน ซึ่งออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ โดยใช้การผสมผสานศิลปะแบบประเพณีนิยมกับศิลปะแบบตะวันตกเข้าด้วยกัน นอกจากนี้บริเวณฐานชุกชีซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานก็มีลักษณะเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนในโบสถ์ ช่องหน้าต่างเจาะไว้เป็นหน้าต่างโค้ง และเมื่อหันกลับมองบนฝาผนังด้านหน้าของพระประธาน จะเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ประดับด้วยกระจกสีที่สั่งเข้ามาจากประเทศอิตาลี มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่งซึ่งหาชมจากที่ใดในเมืองไทยไม่ได้

พระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ประดับด้วยกระจกสีที่สั่งเข้ามาจากประเทศอิตาลี

          เมื่อพ.ศ. 2419 ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ขยายกำแพงพระราชวังบางปะอินให้พระราชวังมีอาณาเขตกว้างกว่าเดิม ได้มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนิเวศธรรมประวัติขึ้น เพื่อให้เป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลใกล้พระราชวัง ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้เจ้าพนักงานจ้างช่างเหมาช่างชาวตะวันตก ได้แก่ มร.ยูกิงแกรซี มาเป็นผู้กะวางแผนที่ ตลอดจนออกแบบพระอุโบสถและหมู่กุฎิให้มีรูปแบบลักษณะวัดในศิลปะตะวันตก ประวัติที่มาของการสร้างวัดนั้น ปรากฎข้อความบนแผ่นศิลาจารึกประวัติการก่อสร้างที่อยู่ในพระอุโบสถ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พระศรีสุนทรโวหารจารึกเรื่องการสร้างวัดบนแผ่นศิลาติดผนังไว้ในพระอุโบสถจำนวน 2 แผ่น บริเวณฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของประตูทางเข้า ด้านละ 1 แผ่น มีใจความระบุถึงประวัติความเป็นมาแต่เดิมว่า เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเป็นต้นมา ก่อนสร้างวัดนิเวศธรรมประวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากทรงมีนิวาสสถานดั้งเดิมอยู่ที่เกาะบางปะอิน เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์โปรดให้สร้างพระราชวังเป็นที่ประพาส อีกทั้งโปรดให้สร้างวัดชุมพลนิกายารามขึ้นที่บริเวณด้านเหนือของพระราชวัง ตั้งแต่นั้นมาพระบรมวงศานุวงศ์ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ได้เสด็จประพาสที่เกาะบางปะอินนี้ทุกพระองค์
          ครั้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการเสด็จประภาสที่เกาะบางปะอินอยู่เนืองๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระถมดินเพิ่มเติมให้ลึกและกว้างกว่าแต่ก่อน แล้วจึงทรงสร้างพระตำหนักและตึกแถว แนวกำแพงโดยรอบกว้างขวางออกไป และมีพระราชศรัทธาให้สร้างวัดนิเวศธรรมประวัติขึ้นเพื่อเป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลใกล้พระราชวัง โดยได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้เจ้าพนักงานจ้างเหมาช่างตะวันตกให้เป็นผู้ออกแบบแผนผังพระอุโบสถ และถาวรวัตถุภายในวัด เช่นศาลาการเปรียญ หมู่กุฎิ ก่อแท่นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระคันธารราษฎ์ โดยมีดำริให้สร้างสถาปัตยกรรมเป็นอย่างตะวันตกทั้งสิ้น
          เหตุที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกภายในวัดนั้น ปรากฎหลักฐานในจารึกประกาศพระราชทานที่วัดและเสนาสนะเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ ซึ่งมีความในพระราชดำริตอนหนึ่งในการถวายพระอาราม ดังนี้
          “… ข้าพเจ้าคิดจะใคร่สร้างเป็นพระอารามน้อยๆ สำหรับที่บำเพ็ญกุศลใกล้พระราชวังในเวลาเมื่อได้มาขึ้นมาพักแรมอยู่ที่เกาะบางปะอินนี้ จึงได้คิดถมดินให้พ้นน้ำตามฤดูที่เคยประมาณว่าเป็นอย่างมากโดยปรกติ แล้วให้เจ้าพนักงานจ้างเหมาช่างชาวตะวันตก กะวางแผนที่ทำตามแบบอย่างกับประเทศตะวันตกทุกสิ่ง ซึ่งได้ให้คิดสร้างโดยแบบอย่างเป็นของชาวต่างประเทศดังนี้ ด้วยมีความประสงค์จะบูชาพระพุทธศาสนาด้วยของแปลกประหลาด แลเพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงชมเล่นเป็่นของแปลก ยังไม่เคยมีในพระอารามอื่น แลเป็นของมั่นคงถาวรสมควรเป็นพระอารามหลวงในหัวเมือง ใช่จะนิยมยินดีเลื่อมใสในลัทธิศาสนาอื่น นอกจากพระพุทธศาสนานั้นหามิได้”
          การก่อสร้างใช้ระยะเวลาทั้งหมดรวม 2 ปี 22 วัน สำเร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2421 และได้โปรดเกล้าให้จัดการฉลองสมโภชครั้งใหญ่ รวม 4 วัน 4 คืน และทรงนิมนต์พระอมราภิรักขิตจากสำนักวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มาเป็นเจ้าอาวาส ภายหลังจากงานต่างๆสิ้นสุดลง เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 13 ค่ำ ปีฉลู นพศก 1239 ตรงกับวันที่ 6 กันยายน 2421"


          จากเว็บไซต์ thai.tourismthailand.org เขียนเล่าให้ฟังต่อว่า "แก่นกลางของวัดแห่งนี้คือพระพุทธศาสนานิกายธรรมยุต หากรูปลักษณ์ที่ปรากฎนั้นโอ่โถงราวกับวิหารกอธิค ทำให้วัดนิเวศธรรมประวัติคือวัดไทยแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป และด้วยความงดงามแปลกตานี้เอง วัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งนี้จึงได้รับการยกสถานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรวิหาร"
         
สถานที่ตั้ง วัดกษัตราธิราชวรวิหาร (Wat Kasatrathirat Worawihan)
         ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ ตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอิน ต.ศรีบ้านเลน อ.บางปะอิน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

การเดินทางไป วัดกษัตราธิราชวรวิหาร (Wat Kasatrathirat Worawihan)

แผนที่สำหรับเดินทางไปวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร (Wat Niwet Thamprawat Ratworawihan)

ถึงจุดหมาย : วัดกษัตราธิราชวรวิหาร (Wat Kasatrathirat Worawihan)
            เนื่องจากวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร (Wat Niwet Thamprawat Ratworawihan) ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีถนนตัดผ่านเข้าไป เราต้องนั่งกระเช้าลอยฟ้าสำหรับส่งผู้โดยสารจากที่จอดรถข้ามไปอีกฝั่งที่เป็นที่ตั้งวัดครับ ขณะอยู่บนกระเช้าลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบรรยากาศดีมากครับ (รูปประกอบ : การเดินทางวันที่ 17 ต.ค.2559)




กระเช้าลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร


            เมื่อเราเดินทางไปถึงวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร (Wat Niwet Thamprawat Ratworawihan) เราไปตามรอยประวัติศาสตร์ ชมความงามวัดไทยแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป วัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5  และกราบพระเพื่อเป็นศิริมงคลกันครับ

 
            เว็บไซต์วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหารเขียนเล่าเกี่ยวกับ พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ให้ฟังว่า "พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ สร้างอยู่ในกำแพงแก้ว ก่ออิฐถือปูนทำเป็นลวดลายแบบตะวันตก เหนือกำแพงมีเสมาสลักจากหินปักอยู่ เสมามีรูปแบบหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ตรงมุมทั้ง 4 สลักเป็นรูปเศียรนาค ตรงกลางสลักลายธรรมจักร ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับการคิดประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5


          พระอุโบสถเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มียอดโดมปลายแหลมเหมือนโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ภายในพระอุโบสถมีเพดานและช่องหน้าต่างสูง มีซุ้มยอดแหลมเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธนฤมลธรรโมภาส” พระประธานซึ่งเป็นพระปฏิมากรประทับนั่งขัดสมาธิเพชร และพระอรหันต์สาวก คือ พระโมคคัลลานะอยู่ทางซ้าย และพระสารีบุตรอยู่ทางขวา เบื้องหน้าเป็นที่ประดิษฐานพระนิรันตราย บานประตูหน้าต่างประดับด้วยกระจกสลับสี ที่ผนังอุโบสถทั้งสองข้างประตูทางเข้ามีจารึกประวัติการสร้างวัดและพระพุทธปฏิมากรเหนือประตูพระอุโบสถมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องต้นทำด้วยกระจกสีงดงาม


          ด้านหน้าบริเวณทางเข้าพระอุโบสถมีมุขยื่นออกมา ลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น รอบผนังพระอุโบสถเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปโค้งปลายแหลมทุกด้านของอาคาร บริเวณท้ายพระอุโบสถเป็นหอระฆังยอดโดมลักษณะรูปกรวยแหลมสูงขึ้นไป 3 ชั้น แต่ละชั้นนั้นเจาะช่องหน้าต่างเป็นอาร์คแบบโค้งปลายแหลมไว้รอบหอระฆัง ชั้นแรกมีการเจาะช่องหน้าต่างทั้งสี่ด้าน และวางยอดปราสาทจำลองประดับไว้ที่มุมทั้งสี่ด้าน ถัดขึ้นไปชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เจาะช่องหน้าต่างและประดับด้วยกระจกสี 8 ด้าน


          บนสุดของยอดทำเป็นโดมปลายแหลม บนหอระฆังมีเจดีย์สำริดปิดทองภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตรงผนังเบื้องล่างยอดโดมประดับด้วยนาฬิกา บอกเวลาเป็นเลขโรมัน"


          และเว็บไซต์วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหารเขียนเล่าเกี่ยวกับ พระพุทธนฤมลธรรโมภาศ พระพุต่อว่า "เป็นพระปฏิมากรนั่งสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 22 นิ้วกึ่ง สูงตลอดรัศมี 36 นิ่งกึ่ง หล่อกะไหล่ทองแล้วเสร็จเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 12 แรม 9 ค่ำ จุลศักราช 1329 ตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2420 รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นพระประธานในพระอุโบสถประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว
          พระพุทธรูปองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงสร้างวัดนี้ โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ (หม่อมเจ้าดิศดวงจักร ในกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์) ซึ่งทรงพระเกียรติคุณว่าเป็นช่างอย่างวิเศษมาแต่รัชกาลที่ 4 ทรงเคยสร้างพระพุทธรูปต่างๆ มาจนนับองค์ไม่ถ้วน ให้ทรงออกแบบปั้นหุ่นและหล่อขึ้น นับว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก โปรดว่างดงามหาที่ตำหนิมิได้
          ต่อมาภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่งให้มีขนาดเท่ากัน กับมีพระราชดำรัสกำชับว่าขอให้งามเหมือนพระพุทธนฤมลธรรโมภาศ แต่ก็เป็นที่สุดวิสัย มิได้ดังพระราชประสงค์ด้วยพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการได้กราบบังคมทูลว่า ทำสุดฝีมืออยู่ที่พระพุทธนฤมลธรรโมภาศเสียแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้จึงจัดว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามอย่างเอกอุในบรรดาฝีมือของพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ"

พระพุทธนฤมลธรรโมภาศ 

          เดินชมความงามทางสถาปัตยกรรมให้เต็มอิ่มครับ และเดินชมบริเวณรอบๆ วัด กราบพระเพื่อเป็นศิริมงคล


          สิ่งหนึ่งที่ห้ามพลาดชมครับนั่นคือ "นาฬิกาแดด LOFTUS SIAM 1878"  สร้างโดย นาวาโท อัลเฟรด ลอฟตัส นายทหารอุทกศาสตร์ ราชนาวีสยาม ถวายแก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2421

นาฬิกาแดด ปี 1878

          ข้างๆ พระอุโบสถมี สุสานสวนหินดิศกุลอนุสรณ์  สถานที่บรรจุอัฐิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (21 มิ.ย.2415 - 1 ธ.ค.2486) ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งการศึกษาและปกครอง และอัฐิของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีอัฐิของเจ้านายราชสกุลดิศกุลอีกหลายองค์ อยู่ท่ามกลางสวนหิน



            หากใครชอบการท่องเที่ยวแบบสบายๆ ขับรถกินลม ชมบรรยากาศโบราณสถาน กราบพระ ตามรอยประวัติศาสตร์ ชมความงดงามทางสถาปัตยกรรม  วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร (Wat Niwet Thamprawat Ratworawihan)   อีกหนึ่งสถานที่ในเมืองไทยที่เราไม่ควรพลาดไปเยือนครับ...สวัสดีครับ


วัดพระศรีสรรเพชญ์ จ.พระนครศรีอยุธยา วัดสำคัญที่สุดของราชสำนักอยุธยา
วัดพระเมรุราชิการาม วัดที่ใช้ทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ( Wat Na Phra Mane )
วัดไชยวัฒนาราม ( Wat Chaiwatthanaram )
วัดมหาธาตุ พระอารามหลวงในสมัยอยุธยาที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (Wat Maha That)
วัดใหญ่ชัยมงคล (Wat Yai Chaimongkhon) อนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติและสัญลักษณ์แห่งการอภัยทานของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วัดธรรมาราม (Wat Thammaram) สถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา สถานที่จำพรรษาของพระอุบาลีมหาเถระ
มหาสงกรานต์ มหามงคล ไปสรงน้ำพระงานหลวงปู่ทวด ประจำปี 2559
สรงน้ำหลวงปู่ทวดปี 2558
เที่ยวประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำที่ลาดชะโด หนึ่งปีมีครั้ง
ตลาดน้ำคลองสระบัว ( Ayutthaya Klong Sa Bua Floating Market & Water Theatre ) : กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงกิจการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น